ปี 2564 เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยยังวนเวียนอยู่กับการแพร่ระบาดของ “โควิด-19” อยู่ โดยสายพันธุ์เดลต้ามีความรุนแรงจนรัฐบาลต้องล็อกดาวน์เข้มข้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายส่วนหยุดชะงัก ประชาชนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในภาวะขาดรายได้ เป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ขาหนึ่งก็ต้องพยายามสร้างการเติบโต แต่อีกขาหนึ่งก็ต้องประคองลูกค้า ล่าสุดทุกแบงก์ได้แจ้งผลดำเนินงานงวดไตรมาส 4/2564 และงวดปี 2564 ออกมาแล้ว
9 แบงก์กวาดกำไร 1.6 แสนล้าน
โดยในภาพรวมปี 2564 ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง (ไม่รวมกรุงไทย หรือ KTB) ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ttb) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (L H BANK) มีกำไรรวมกันที่ 159,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.81%
โดยกสิกรไทยทำกำไรได้มากสุดที่ 38,053 ล้านบาท รองลงมาไทยพาณิชย์ที่ 35,559 ล้านบาท และกรุงศรีอยุธยา 33,794 ล้านบาท แต่พบว่า ในบรรดาแบงก์ใหญ่ ธนาคารกรุงเทพทำกำไรเพิ่มขึ้นถึง 54.28% จากปีก่อน เนื่องจากปีที่แล้วกำไรลดลงไปค่อนข้างมาก
“ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กสิกรไทยมีกำไรสุทธิปี 2564 จำนวน 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.05% ส่วนหนึ่งเกิดจากการลดลงของสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) 3,216 ล้านบาท หรือ 7.38% โดยธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรอง 40,332 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นสำรอง ภายใต้หลักความระมัดระวัง
นอกจากนี้ มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 7,822 ล้านบาท หรือ 6.13% หลัก ๆ เกิดจากการให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ และมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าโดยการเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ รวมทั้งลูกค้าบางส่วนยังอยู่ภายใต้มาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้ธนาคารยังคงต้องบริหารจัดการดอกเบี้ยค้างรับต่อเนื่อง โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.21%
ขณะที่ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า กำไรที่เพิ่มขึ้น 54.3% เนื่องจากมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่ม 6.6% ผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตาเต็มปี และการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก ขณะที่ NIM อยู่ที่ 2.10% นอกจากนี้ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยก็เพิ่มขึ้น 25.7% จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียม
แห่ตั้งสำรองลด-BBL สวนตลาด
ทั้งนี้ ในปี 2564 พบว่า แบงก์ส่วนใหญ่ตั้งสำรองลดลง ภาพรวม 9 แบงก์ลดลงไป 14,574 ล้านบาท หรือลดลง 7.48% โดยไทยพาณิชย์สำรองลดลง 9.91% กสิกรไทยสำรองลดลง 7.38% กรุงศรีอยุธยาและทีทีบีสำรองลดกว่า 13% ทั้งนี้ ในบรรดาแบงก์ขนาดใหญ่มีเพียงธนาคารกรุงเทพที่ตั้งสำรองเพิ่ม 9.42% ซึ่งทางธนาคารระบุว่า ได้พิจารณาตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 34,134 ล้านบาท
จากการพิจารณาปัจจัยผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับสายพันธุ์โอมิครอน รวมถึงความไม่แน่นอนของความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของไวรัสที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่อง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง
ด้านหนี้เสีย หรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) พบว่า ทุกแบงก์มีสัดส่วนเอ็นพีแอลลดลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อาทิ แบงก์กรุงเทพลดลงมาที่ 3.2% จาก 3.7% ในไตรมาส 3/2564 ขณะที่ไทยพาณิชย์ลดจาก 3.89% มาอยู่ที่ 3.79% และกสิกรไทยลดจาก 3.85% มาอยู่ที่ 3.76% แต่เมื่อดูในเชิงมูลค่าจะพบว่า มีเพียงแบงก์กรุงเทพที่เอ็นพีแอลลดลง จาก 104,401 ล้านบาท ตอนสิ้นปี 2563 เป็น 101,103 ล้านบาท ตอนสิ้นปี 2564 ส่วนแบงก์ขนาดใหญ่อื่น ๆ มูลค่าเอ็นพีแอลปรับตัวขึ้น
หนี้เสียไส้ในยังเปราะบาง
“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ภาพรวมกำไรแบงก์ปี 2564 เติบโตดีขึ้น เนื่องจากภาระการตั้งสำรองลดลง เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีการตั้งสำรองกันสูง เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนที่มีอยู่สูง เนื่องจากลูกหนี้รายย่อย รวมถึงเอสเอ็มอีเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้จำนวนมาก
นอกจากนี้ หลังจากคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว ก็หนุนรายได้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของแบงก์ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/2564 เพราะการติดต่อ การเดินทางเริ่มทำได้มากขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงที่ธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์ไปได้ดี จากการที่ส่งออกโตได้ดี ส่วนรายได้ดอกเบี้ยที่ดูดีขึ้น ก็เนื่องจากลูกหนี้เริ่มกลับมาผ่อนชำระได้เป็นปกติมากขึ้น ทำให้แบงก์ดึงส่วนที่สำรองกลับมารับรู้รายได้มากขึ้น
“แน่นอนว่า พอตั้งสำรองน้อยลง กำไรก็ดีขึ้น เพราะหนี้เสียไม่ได้เพิ่มมากอย่างที่คาด มีคนออกจากมาตรการช่วยเหลือไปค่อนข้างมาก สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ส่วนคนที่ยังอยู่ในมาตรการ ก็มีการปรับโครงสร้างหนี้กันมากขึ้นด้วย ซึ่งก็ช่วยลดภาระการตั้งสำรองลงไป เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการช่วยเรื่องการจัดชั้นหนี้อยู่ แต่ถ้าจะให้มองลึกลงไป ก็ยังคงมีความเปราะบางค้างอยู่ในระบบแบงก์ แน่นอนว่าแบงก์ก็ต้องช่วยลูกหนี้ให้ไปต่อได้ แต่ตรงนี้ก็คือ ยังไม่ได้สะท้อนภาพออกมาเต็ม ๆ”
กำไรผ่านจุดต่ำสุด-ปีเสือขาขึ้น
ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า “นริศ” กล่าวว่า ระบบแบงก์ผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปแล้ว โดยแน่นอนว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน” ซึ่งปีนี้การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าก็ยังคงเป็นประเด็นหลักของแบงก์ เพื่อบริหารจัดการเอ็นพีแอลที่มีแนวโน้มปรับขึ้น ขณะเดียวกันแบงก์คงขยับรุกปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อย เพราะทิศทางเศรษฐกิจฟื้นชัดเจนขึ้น ส่วนเงินฝากคงไม่ได้เติบโตมาก แต่น่าจะเห็นแบงก์เริ่มแข่งกันออกเงินฝากประจำ เพื่อล็อกต้นทุนมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
“ธีมธุรกิจแบงก์ปีนี้คงเน้นเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ และคงมีการบริหารจัดการหนี้เสียมากขึ้น เพราะถ้าหมดมาตรการ ธปท.ที่ผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้แล้ว จะเป็นเรื่องใหญ่ นอกจากนี้ ในด้านสินเชื่อปีนี้แบงก์ก็คงให้ความสำคัญกับสินเชื่อรายย่อย ส่วนกำไรคงฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่คงไม่ได้โตเหมือนตอนเศรษฐกิจปกติ เพราะความเปราะบางยังมีอยู่มาก”
จับตาเก็บภาษีขายหุ้นกระทบค่าฟี
ด้าน “ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจแบงก์ปี 2565 คาดการณ์ภาพรวมกำไรจะโตได้ 10% จากปี 2564 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยสำรองหนี้ลดลงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรโต และประเมินภาพเศรษฐกิจไทย จะโตได้ 3% ต่อปี การใช้จ่ายต่าง ๆ จะดีขึ้น ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมและสินเชื่อเติบโตดี อย่างไรก็ดี จะมีปัจจัยกดดันจากประเด็นการจะเก็บภาษีธุรกรรมขายหุ้น (transaction tax) ที่จะมีผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียม จากธุรกิจหลักทรัพย์หรือกองทุนรวมได้
จากแนวโน้มที่ผ่านมา คาดว่าอีกไม่นานแบงก์น่าจะทำกำไรกลับสู่ระดับก่อนโควิดได้ หากไม่มีปัจจัยลบแรง ๆ ซ้ำเติมเข้ามาอีกในระยะข้างหน้า
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance