นักลงทุนแห่ขายกอง LTF ไทยพาณิชย์ดึงซื้อ SSF ต้นปี

เศรษฐกิจ (ในประเทศ - ต่างประเทศ)

กอง “SSF-RMF” ปิดงวดปี’64 เงินไหลเข้ารวม 5.2 หมื่นล้านบาท “มอร์นิ่งสตาร์ฯ” เผยกองหุ้นต่างประเทศร้อนแรงสุด ขณะที่ปีนี้คาดมีแรงขาย LTF ครบ 7 ปีสะพัด คาด ม.ค.เดือนเดียวร่วม 1 หมื่นล้านบาทด้าน “บลจ.ไทยพาณิชย์” กระตุ้นนักลงทุนทยอยลงทุน SSF ตั้งแต่ต้นปี ชูแคมเปญ “เริ่มก่อน คุ้มกว่า” ถึง 30 เม.ย.นี้ รับ Fund Back สูงสุด 400 บาท

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าปี 2564 ที่ผ่านมา กองทุนเพื่อการออม (SSF) ที่เป็นกองทุนลดหย่อนภาษี มีเงินไหลเข้าทั้งสิ้น 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เงินจะไหลเข้ามากสุดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 1.1 หมื่นล้านบาท

โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค. 2564 มีเงินไหลเข้ากอง SSF ถึง 8,500 ล้านบาทหรือคิดเป็น 56% ของทั้งปี ส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน SSF รวม SSFX เพิ่มขึ้น 42.0% จากไตรมาส 3 ล่าสุดอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท (ณ 31 ธ.ค. 2564)

 

“เงินที่ไหลเข้า SSF ในไตรมาสสุดท้าย ส่วนใหญ่เป็นการไหลเข้ากองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (equity large-cap) มากสุดที่ 2,000 ล้านบาท และรวมทั้งปีไหลเข้า 2,700 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ เกือบครึ่งหนึ่งไหลเข้ากองทุน SCB Dividend Stock 70/30 Long Term Equity SSF ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำนวน 700 ล้านบาท โดยกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.8% จากสิ้นปี 2563” นางสาวชญานีกล่าว

นอกจากนี้ พบว่ากองทุน SSF ที่เป็นการลงทุนต่างประเทศ มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการลงทุนในประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกองทุนหุ้นโลก (Global Equity) ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 146% จากสิ้นปี 2563 ไปอยู่ที่เกือบ 1 หมื่นล้านบาท จากที่มีเงินไหลเข้าถึง 4,100 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และเงินไหลเข้าทั้งปีอยู่ที่ 5,500 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เงินไหลเข้ากองทุน K Positive Change Equity-SSF ของ บลจ.กสิกรไทย มากกว่า 2,000 ล้านบาท

นางสาวชญานีกล่าวว่า ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่เป็นกองทุนลดหย่อนภาษีเช่นกัน ในไตรมาสสุดท้ายปี 2564 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% จากไตรมาส 3 และเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ถึง 20.5% โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 มีเม็ดเงินไหลเข้า 3.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งปีมีเงินไหลเข้า 3.7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ไหลเข้ากองทุน RMF Equity หรือ RMF ที่ลงทุนในหุ้นสูงถึง 87%

“นับว่าเป็นปีแรกที่มีเงินไหลเข้ากองทุน RMF Equity มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกิดจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศทั้งหมดนำโดยกลุ่มกองทุนหุ้นโลกที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยกองทุนหุ้นจีน 9,000 ล้านบาท และกองทุนหุ้นเทคโนโลยี 4,300 ล้านบาท โดย บลจ.กสิกรไทย มีเงินไหลเข้ากองทุน RMF สูงสุดในรอบปี 2564 รวม 8,700 ล้านบาท” นางสาวชญานีกล่าว

นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช กล่าวด้วยว่า ในปี 2565 นี้ จะมีเงินลงทุนจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ลงไว้ตั้งแต่ปี 2559 จะครบอายุขายได้ตามเงื่อนไขถือครอง 7 ปี ซึ่งน่าจะมีเงินไหลออกค่อนข้างมาก โดยในเดือนแรกของปี หรือเดือน ม.ค.คาดว่ามีแรงเทขายแตะ 1 หมื่นล้านบาท หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีการขายกองทุน LTF จึงมีทิศทางเงินไหลออกต่อเนื่องรวม 3.4 หมื่นล้านบาท โดยช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2564 มีเงินไหลออกมากถึง 5,300 ล้านบาท

นายอาชวิณ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า นักลงทุนควรลงทุนในกอง SSF โดยไม่ต้องรอปลายปีเพื่อลดความกังวลของตลาดที่ขึ้นลงตามสภาวการณ์

อีกทั้งยังเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว กับแคมเปญ “เริ่มก่อน คุ้มกว่า” ตั้งแต่วันนี้-30 เม.ย. 2565 สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทุนในกองทุน SSF ผ่านช่องทาง SCBAM Fund Click, SCB EASY App หรือผู้สนับสนุนการขายทุกราย

โดยผู้ลงทุนที่เข้าร่วมแคมเปญจะได้รับ Fund Back หน่วยลงทุนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ระยะสั้น (SCBSFF) ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารธนาคารพาณิชย์ และหุ้นกู้ มูลค่าสูงสุด 400 บาท

“เงื่อนไขภายใต้แคมเปญนี้ให้สิทธิเฉพาะลูกค้าประเภทบุคคลธรรมดา (ประเภทบัญชีเดี่ยว) และลงทุนในกอง SSF ในช่องทางเดียวกันเท่านั้น โดยจะต้องเริ่มลงทุนครั้งแรกในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-30 เม.ย. 2565 ซึ่งภายในเดือนนั้น ๆ จะลงทุนครั้งละเท่าใดก็ได้ แต่ยอดเงินลงทุนสะสมสุทธิในเดือนนั้นจะต้องมีจำนวนขั้นต่ำ 2,000 บาทต่อเดือน และลงทุนติดต่อกันเป็นระยะเวลา 6 เดือนตามเดือนปฏิทินสำหรับกองทุน SSF ปัจจุบันมีครอบคลุมทุกสินทรัพย์ทั้งกองทุนไทยและต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนรวมผสม กองตราสารทุนทั้งไทยและต่างประเทศ กองทุนรวมสินทรัพย์ทางเลือก และกองทุนที่ลงทุนภายใต้นโยบาย LTF เดิม”นายอาชวิณกล่าว

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance